ข้อพึงพิจารณาของการใช้เทคโนโลยีแบบ Cloud Computing
ในเบื้องต้นของบทความนี้ผู้อ่านจะได้เห็นข้อดีหลายอย่างของเทคโนโลยีแบบ Cloud Computing และอาจเกิดความสงสัยว่าแล้วข้อเสียมีอะไรบ้างนอกจากจะต้องเรียนรู้ระบบของผู้ให้บริการซึ่งก็ฟังดูสมเหตุสมผลเนื่องจากเราจำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งที่เราใช้งานเสมอ เราลองมาดูกันว่าเรามีข้อควรระวังอะไรบ้างในการเลือกใช้เทคโนโลยีแบบ Cloud
Computing
- ข้อแรกที่เราควรพึงพิจารณาคือ ในการใช้เทคโนโลยีแบบ Cloud
Computing นั้น เราจำเป็นที่จะต้องมีการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นถ้าเราต้องเดินทางไปในที่ๆอาจไม่มีการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตข้อมูลและแอปพลิเคชันของเราก็จะไม่สามารถเรียกใช้ได้อีกต่อไป อีกทั้งเราต้องเตรียมพร้อมไว้ด้วยว่าถ้าระบบอินเตอร์เน็ตของเรามีความเร็วไม่เพียงพอ การเรียกใช้งานบริการในรูปแบบของ Cloud
computing ก็จะมีปัญหาได้เช่นกัน
- ในปัจจุบันแอปพลิเคชันในรูปแบบของ Cloud
computing โดยส่วนใหญ่นั้นจะมีจำนวนฟังก์ชันให้เรียกใช้งานน้อยกว่าแอปพลิเคชันในรูปแบบของ desktop อาทิเช่นGoogle
Docs นั้นจะมีจำนวนฟังก์ชันน้อยกว่า Microsoft
Office
- เนื่องจากแอปพลิเคชันในรูปแบบของ Cloud
computing ส่วนใหญ่จะต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้เรียกใช้ผ่านทาง web
browser และแอปพลิเคชันทางฝั่งของผู้ให้บริการที่อยู่บนเซิร์ฟเวอร์ผ่านทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งบ่อยครั้งผู้ใช้จะพบว่ามีความล่าช้าในการทำงานของแอปพลิเคช้น ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างของ Google
Docs ซึ่งบ่อยครั้งที่การตอบสนองของแอปพลิเคชันนั้นมีความล่าช้ามากในระดับที่ไม่สามารถยอมรับได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแอปพลิเคชันในรูปแบบของ Cloud
computing ในปัจจุบันยังไม่สามารถแทนที่แอปพลิเคชันในรูปแบบของ desktopได้
- อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาในการใช้เทคโนโลยีแบบ Cloud
Computing คือการที่ข้อมูลและแอปพลิเคชันของเราติดตั้งอยู่ที่ระบบของผู้ให้บริการนั้น ถ้าหากวันหนึ่งผู้ให้บริการหยุดให้บริการขึ้นมา เราจะต้องเสี่ยงต่อการสูญเสียข้อมูลและแอปพลิเคชันเหล่านั้นไป ถึงแม้ว่ากรณีนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ยากแต่ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน ดังที่จะเห็นได้จากการหยุดให้บริการของเครื่องมือการพัฒนา mashups ของบริษัท Microsoft ที่รู้จักกันในนามของ Microsoft
PopFly ในกรณีนี้ถ้าผู้ใช้บริการไม่สามารถที่จะทำการ backup ข้อมูลและแอปพลิเคชันของตนได้ทันเวลาก็จะสูญเสียข้อมูลและแอปพลิเคชันเหล่านั้นไปเลย
- เนื่องจากในปัจจุบันบริการทางด้าน SaaS จำนวนมากเปิดให้บริการโดยไม่คิดค่าบริการ อาทิ Google
Apps แต่เมื่อวันใดที่ผู้ใช้บริการเปลี่ยนมาใช้บริการเหล่านี้กันเป็นจำนวนมาก แล้วผู้ให้บริการเปลี่ยนนโยบายและคิดค่าบริการขึ้นมา ผู้ใช้บริการอาจจำเป็นต้องกลับมาพิจารณาว่าตนจะยังคงใช้บริการเหล่านั้นต่อหรือไม่ หรือว่าจะทำการ backup ข้อมูลต่างๆแล้วไปใช้บริการอื่นแทน
- ถ้าเรามาลองมองดูกันเราจะเห็นได้ว่าข้อมูลและแอปพลิเคชันที่เราติดตั้งไว้ที่ระบบของผู้ให้บริการนั้นค่อนข้างที่จะปลอดภัย (secured) เนื่องจากผู้ให้บริการได้ให้ความสำคัญพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยไว้เป็นอย่างดี แต่เมื่อลองมองถึงเรื่องเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว (privacy) ของข้อมูลที่เราติดตั้งไว้ที่ระบบของผู้ให้บริการนั้น จะเห็นได้ว่าข้อมูลเหล่านั้นอาจจะถูกเรียกใช้โดยผู้ให้บริการเมื่อใดก็ได้ ดังนั้นก่อนที่จะเลือกใช้บริการในรูปแบบของ Cloud
computing นั้นเราจำเป็นต้องพิจารณาในเรื่องของ privacy
policy กันเป็นอย่างมาก ซึ่งในปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่าเรื่องของ privacy นั้นดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด ดังจะเห็นได้จากการที่องค์กรหลายองค์กรไม่อนุญาตให้บุคลากรของตนส่งอีเมล์ที่มีข้อมูลสำคัญๆผ่านทาง Gmail ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเพราะผู้อ่านหลายท่านก็อาจจะสังเกตเห็นได้ว่าเมื่อท่านใช้บริการ Gmail ท่านจะเห็น links ของโฆษณาที่อยู่ทางด้านบนและทางด้านขวามือของโปรแกรมนั้นมีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาของอีเมล์ที่ท่านกำลังเปิดอ่านอยู่ นั่นอาจจะหมายความว่า Google กำลังทำการวิเคราะห์ข้อมูลของท่านอยู่นั่นเอง ดังนั้นผู้อ่านจึงควรพึงพิจารณาในการเลือกใช้บริการในรูปแบบของ Cloud
computing เหล่านี้